10 คำถาม-คำตอบ ที่ควรรู้ก่อนออกรถ EV

ใครที่กำลังอยากเปลี่ยนรถใหม่ หรือสนใจซื้อรถใหม่ อาจกำลังจะมีคำถามแบบนี้อยู่ในหัวว่า “ถึงเวลาแล้วรึยัง ถ้าเราลองหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากัน” หากเรามองไปตลาด ณ ตอนนี้ อาจยังมีตัวเลือกรถ EV ไม่มาก หรือบางทีบางรุ่นราคาอาจยังไม่ค่อยถูกใจ แต่ในตลาดรถยนต์ตอนนี้ กระแสรถ EV ในหลายๆประเทศกำลังมา หรือกลายเป็นมาตรฐานรถยนต์ปกติกันไปแล้ว ดังนั้น เมืองไทยก็น่าจะเป็น Just a Matter of Time ที่รถยนต์ไฟฟ้า EV จะกลายเป็นเรื่องปกติในเมืองไทยได้ในอนาคต

จริงๆ แล้ว รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตถูกใช้งานในรูปแบบรถเพื่อบริการในสถานที่ต่างๆ มาแล้ว เช่น รถกอล์ฟ รถรางไฟฟ้าในสวนสัตว์ เป็นต้น และเริ่มมีการพัฒนามาสู่รถยนต์นั่ง แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในช่วงแรกๆ เนื่องจากเทคโนโลยียังไม่ทันสมัย และสมรรถนะที่ยังด้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่ภายหลังได้มีการพัฒนาสมรรถนะให้ดีขึ้น ประกอบกับราคาที่ค่อยๆลดลง จึงกลับมาเป็นที่น่าสนใจอีกครั้งในยุคนี้

ปัจจุบันนี้ บริษัทรถแทบจะทุกแบรนด์ต่างลงมาพัฒนารถ EV กันหมดแล้ว บางทีก็เน้นรถเล็กๆ ขับในเมือง
อย่างคันนี้คือแบรนด์ Smart รุ่น For Two จากค่าย Daimler Benz

1. รถยนต์ EV ทำงานต่างจากรถพลังงานทางเลือกอี่นอย่างไร?
ต่างกันแน่นอน เพราะรถยนต์ EV วิ่งโดยมอเตอร์ไฟฟ้า และใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานอย่างเดียว ในขณะที่รถในตลาดเมืองไทย จะแตกต่างออกไปดังนี้

1.1 รถไฮบริด เช่น Toyota Camry Hybrid 2.5 HV Premium จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสม ที่ใช้ระบบการขับเคลื่อน 2 ระบบแบบทำงานร่วมกัน ประกอบไปด้วย เครื่องยนต์สันดาปภายในใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมัน และมอเตอร์ไฟฟ้าซึ่งใช้กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ โดย 2 ระบบขับเคลื่อนนี้ สามารถทำงานสลับกันไปมาได้แล้วแต่จังหวะการขับเคลื่อน หรือการทำงานของรถ ข้อดีของระบบนี้คือช่วยประหยัดน้ำมัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยเพิ่มสมรรถนะในการขับขี่ตามระบบ และจังหวะการเคลื่อนไหวของรถยนต์ ณ ขณะนั้นๆ 

1.2 รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานผสมแบบเสียบปลั๊ก หรือปลั๊กอินไฮบริด เช่น Mercedes-Benz C300e ใช้พลังงานผสมระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิง และไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ที่เสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ เป็นรถที่มีลักษณะการทำงาน และชิ้นส่วนต่างๆ คล้ายกับ ไฮบริด แต่มีระบบเติมไฟฟ้าจากภายนอกเข้ามาโดยผ่านปลั๊กที่ติดอยู่กับตัวรถ เนื่องจากรถประเภทนี้สามารถชาร์จไฟจากภายนอกได้ จึงทำให้มีความสามารถที่จะขับขี่โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวได้ระยะทางมากกว่ารถไฮบริด แต่เนื่องจากแบตเตอรี่มีขนาดใหญ่ทำให้มีราคาสูงกว่าแบบไฮบริด

โดยรวมแล้ว รถ Hybrid กับ Plug-in Hybrid นั้น เราคุ้นเคยกันอยู่บ้างแล้ว แต่หลักการของเครื่องยน์มันก็ยังเป็นรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่ดี นอกจากนี้ ในโลกรถยนต์ยังมีรถพลังงานทางเลือกอื่นอีก เช่น รถไฟฟ้าพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งใช้พลังงานจากก๊าซไฮโดรเจน แต่ไม่เป็นที่นิยมสำหรับตลาดผู้บริโภคมากนัก 
รถ Hybrid

รูปภาพรถ Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) ขณะกำลังชาร์จแบตเตอรี่อยู่

2. ชาร์จไฟยังไง และสาทารถชาร์จที่บ้านได้ไหม? 
วิธีการชาร์จไฟรถ EV นั้น จะแบ่งได้ออกเป็น 3 แบบหลักๆ คือ
2.1 Quick Charger
2.2 Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box และ
2.3 Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับในบ้าน
ซึ่งวิธีที่ 2-3 นี้ เราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อชาร์จไฟรถ EV ในบ้านได้

2.1 แบบ Quick Charge เป็นการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) โดยใช้ตู้ EV Charger (สถานีชาร์จรถไฟฟ้า) จ่ายไฟ DC เข้าไปที่แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง การชาร์จแบบนี้จะเร็วที่สุดใน 3 แบบ สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ในเวลาประมาณ 40-60 นาที แต่ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความจุของแบตเตอรี่ด้วย เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ ประเภทหัวชาร์จของ Quick Charger ได้แก่ CHAdeMo(พัฒนาโดยญี่ปุ่น) , GB/T (พัฒนาโดยจีน) และ CCS (ใช้ในยุโรปและอเมริกา)

2.2 Normal Charger แบบเครื่องชาร์จ Wall Box เป็นการชาร์จด้วยไฟกระแสไฟฟ้าสลับ (AC Charging) ซึ่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเห็นกันในรูปของตู้ชาร์จติดผนังตามห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม โดยการชาร์จผ่านตัวแปลงไฟที่จะทำหน้าที่ในการแปลงไฟกระแสสลับ ไปเป็นไฟกระแสตรง โดยมีระยะเวลาในการชาร์จอาจมีได้ตั้งแต่ 4 – 9 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่ และสเปครถ   

2.3 Normal Charger แบบต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง โดยมีเงื่อนไขว่ามิเตอร์ไฟของบ้านต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 15(45)A และเต้ารับไฟในบ้านต้องได้รับการติดตั้งใหม่ เป็นเต้ารับเฉพาะสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถใช้เต้ารับแบบธรรมดาได้ เนื่องจากรถ EV จำเป็นต้องใช้กระแสไฟฟ้าสูงขณะทำการชาร์จ จึงต้องตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้านให้มีความเหมาะสมต่อปริมาณความต้องการของกระแสไฟฟ้า เช่น สะพานไฟ และขนาดของสายไฟ ว่าสามารถรองรับปริมาณกระแสที่มากได้หรือไม่ และอุปกรณ์ชาร์จควรมีระบบตัดไฟฟ้าอัตโนมัติเมื่อชาร์จเต็ม หรือเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย ดังนั้น ข้อแนะนำคือควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ติดตั้งเพื่อความปลอดภัยจะดีที่สุด ปัจจุบัน บริษัทเอกชนหลายแห่งได้มีการนำเข้าตัวชาร์จเข้ามาจำหน่าย พร้อมบริการติดตั้งตามบ้านเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่สนใจรถ EV แล้ว ระยะเวลาการชาร์จของวิธีนี้จะนานที่สุด คือใช้เวลากว่า 12-15 ชั่วโมง
สถานี Charge Now สำหรับชาร์จไฟรถ EV และ PHEV ในโรงแรม So Sofitel Hotel Bangkok
(Charge Now เป็นความร่วมมือระหว่าง BMW Thailand, GLT Green และ The Fifth Element)

8.jpg

รูปร่างหน้าตาเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV ในสถานีชาร์จที่ตั้งอยู่ในโรงแรมหลายๆแห่งในเมืองไทย

3. ชาร์จไฟนอกบ้านที่สถานีชาร์จไฟฟ้าที่ไหนได้บ้าง?  
จุด EV Charger มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต มีบริษัทเอกชนหลายรายกำลังลงทุนขยายเครือข่ายเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นโดยได้รับความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับการไฟฟ้านครหลวง ปัจจุบัน ในเมืองไทยมีสถานี EV Charger ยังไม่เยอะมาก และยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพไม่น้อย ตามลานจอดรถห้างสรรพสินค้าต่างๆ โรงแรมต่างๆ ตึกสำนักงานที่ทันสมัย และคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่รองรับรถ Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) และอาจมีการคิดค่าใช้บริการด้วย โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 50 บาท/1 ชั่วโมง, 80 บาท/2 ชั่วโมง และ 110 บาท/3 ชั่วโมง ทางด้าน PTT ก็ได้เปิดตัว PTT EV Charging Station สำหรับสมาชิกบัตร PTT Blue Card สามารถนำรถไปชาร์จไฟได้ รวมถึงสถานที่ราชการอีกหลายแห่ง และได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนเพื่อความสะดวกสบายในการค้นหา ให้คุณสามารถค้นหา EV Charger ที่อยู่ใกล้เคียงได้ใน Google Maps บนสมาร์ทโฟน เพียงแค่ใส่คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง เช่น EV charging stations ก็สามารถค้นหาสถานที่ตั้งพร้อมกับข้อมูลระยะทางที่ใกล้เคียงให้คุณได้9.png
อีกตัวอย่างของแอปฯ การหาสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของ EA (เอกชนอีกรายที่กำลังลงทุนสร้างสถานีชาร์จรถไฟฟ้าในเมืองไทยตอนนี้)10.png
ปัจจุบันเริ่มมีแอปฯ เอกชนที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้หาสถานีชาร์จรถ EV ในเมืองไทยได้ง่ายขึ้น เช่น PumpCharge นี้


4. รถยนต์ EV วิ่งได้นานแค่ไหน?
ขึ้นอยู่กับว่า “ความจุของแบตเตอรี่” และ “ขนาดของมอเตอร์” ของรถรุ่นนั้นๆ ว่ามีความจุเท่าไหร่ ประกอบกับปัจจัยอื่นๆหลายอย่าง เช่น สภาพการจราจร ขับขึ้นทางชัน ใช้กำลังแอร์เยอะในสภาพอากาศร้อน เป็นต้น ไม่ใช่ว่าทุกคันจะวิ่งได้ระยะทางเท่ากันหมด บางรุ่นใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กก็วิ่งได้น้อยกว่า เปรียบเทียบง่ายๆ ได้เหมือนกับที่รถยนต์มีถังน้ำมันความจุต่างกัน การใช้เชื้อเพลิงต่างกัน ระยะทางที่ได้ก็จะต้องต่างกันไปด้วย ยกตัวอย่างรถ EV ที่ขายในเมืองไทยปัจจุบัน แต่ละค่ายก็จะให้ข้อมูลว่ามีระยะทางวิ่งได้ไกลสุดแตกต่างกันไป เช่น

  • FOMM ONE (ราคาในไทย 664,000 บาท) วิ่งได้ไกลประมาณ 160 กิโลเมตร/ชาร์จ
  • Hyundai IONIQ (ราคาในไทย 1,749,000 บาท) วิ่งได้ไกลประมาณ 280 กิโลเมตร/ชาร์จ
  • Nissan LEAF (ราคาในไทย 1,990,000 บาท) วิ่งได้ไกลประมาณ 311 กิโลเมตร/ชาร์จ
  • Audi e-Tron 55 Quattro (ราคาในไทย 5,099,000 บาท) วิ่งได้ไกลประมาณ 500 กิโลเมตร/ชาร์จ  

5. อายุของมอเตอร์และแบตเตอรี่จะใช้งานได้นานแค่ไหน?
อายุการใช้งานของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6-8 ปี แบตเตอรี่ และมอเตอร์ในรถยนต์ไฟฟ้า ก็เหมือนกับแบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ ที่เสื่อมสภาพตามการใช้งานได้ แต่สำหรับแบตเตอรี่ และมอเตอร์ของรถ EV ที่เสื่อมสมรรถนะลงนั้นจะเป็นแบบค่อยๆ ลดลง ข้อแนะนำคือรถ EV ควรชาร์จแบตเตอรี่จนไฟเต็มประจุ 1 ครั้งทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเซลล์เก็บประจุให้ทำงานครบ และช่วยลดการเสื่อมของแบตเตอรี่ได้ และโดยปกติ แบตเตอรี่จะใช้งานได้ไม่เต็ม 100% หลังจากระบบจะทำการเซฟเบื้องต้น การชาร์จบ่อยๆ ครั้งก็ทำให้มีผลกระทบต่อการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ไม่มาก เนื่องจากมีการออกแบบให้ถูกใช้งานซ้ำๆ เป็นประจำ ส่วนการชาร์จไฟเข้านั้น ระบบจะมีการตัดการชาร์จไฟเมื่อระดับไฟฟ้าในแบตเตอรี่เพียงพอต่อการใช้งานแล้ว โดยทั่วไปนั้นจะตัดการประจุไฟที่ราวๆ 90 เปอร์เซ็นต์ (ขึ้นกับรุ่นรถที่ใช้งาน) ซึ่งส่วนใหญ่การรับประกันของแบตเตอรี่นั้นๆ แต่เนื่องจากรถแต่ละคันใช้งานไม่เหมือนกันจึงต้องใช้ทั้งปัจจัย “ระยะเวลา” และ “ระยะทาง” เป็นตัวกำหนด เช่น Nissan LEAF อาจมีการรับประกันอายุของแบตเตอรี่เอาไว้ที่ 8 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร และรับประกันระบบไฟฟ้าถึง 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ด้าน MG ZS EV มีการรับประกันอายุของแบตเตอรี่เอาไว้ที่ 8 ปี หรือ 180,000 กิโลเมตร


สถานี EV Charger ที่โรงแรม Pullman King Power Hotel รางน้ำ

สถานีชาร์จรถไฟฟ้า EV Charger แบบนี้ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในกรุงเทพ

6. เปรียบเทียบ ค่าใช้จ่าย และ กำลังรถ ระหว่างรถ EV กับ Non-EV?
โดยเฉลี่ย หากรถ EV ของเราไม่ได้มีปัญหากับตัวแบตเตอรี่ เช่นต้องเปลี่ยนบ่อย หรือเสียบ่อย ค่าใช้จ่ายในการขับรถ EV (Energy Costs) จะถูกกว่ารถยนต์วิ่งด้วยน้ำมันในระดับหนึ่ง ดังต่อไปนี้

6.1 น้ำมันมีราคาผันผวนตามตลาดโลก ส่วนราคาไฟฟ้านั้นคงที่ โดยจะเสียค่าไฟครั้งละ 90-150 บาทต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง คิดเสียว่าค่าใช้จ่าย ประมาณ 0.60 – 1 บาท/กิโลเมตร เมื่อเทียบค่าเติมน้ำมันรถทั่วไปประมาณ 3 บาท/กิโลเมตร ทำให้สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงรถไปได้มากกว่า 2-3 เท่า ดังนั้น เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินต่อการเติมเชื้อเพลิง 1 ครั้ง รถยนต์ไฟฟ้า EV จะถูกกว่า

6.2 ส่วนในเรื่องความแตกต่างของพละกำลังนั้น รถแบบที่ใช้เครื่องยนต์ จะมีการสูญเสียกำลังไประหว่างทางจากเครื่องยนต์จนไปถึงล้อ ส่วน รถยนต์ EV นั้นมีส่วนประกอบน้อยกว่าทำให้ไม่มีการสูญเสียพลังงานมาก ดังนั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว อัตราเร่งของรถยนต์ EV ที่มี Single Speed จึงดีกว่ารถแบบที่ยังใช้เครื่องยนต์พอสมควร

6.3 แบตเตอรี่ถือได้ว่าเป็นส่วนประกอบที่แพงที่สุดชิ้นหนึ่งของรถ EV ปกติราคาแบตเตอรี่จะคิดตามขนาดของ kilowatt-hour ซึ่งรถ EV ในระดับกลางทั่วไปจะขนาดประมาณ 25-40 kilowatt-hour และราคาของแบตเตอรี่ จะแตกต่างกันไปตามยี่ห้อ และประสิทธิภาพการชาร์จ มีได้ตั้งแต่ 9,300 บาท – 13,950 บาท ต่อ kilowatt-hour ถ้าสมมติเอาตัว Nissan Leaf ที่ขายในบ้านเราขนาดแบตเตอรี่ 40 kilowatt-hour คูณออกมาก็จะประมาณ 372,000 – 558,000 บาท/คัน

7. การบำรุงรักษา แพงไหม?
แพงหรือไม่แพงจะขึ้นอยู่กับชนิดของแบตเตอรี่รถคันนั้นๆ ว่าจะต้องทำการซ่อม หรือเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่เป็นรายโมดูล หรือเปลี่ยนยกชุด ซึ่งส่วนใหญ่จะมีราคาหลักหลายแสนบาทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหน ก็ขึ้นอยู่กับบริษัทผู้จำหน่ายรถ EV คันนั้นๆ แต่เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้า EV จะมีชิ้นส่วนน้อยกว่าทั้งรถปกติ และรถแบบ Plug-in Hybrid ทำให้ค่าดูแลรักษาจะต่ำกว่า ตัวอย่าง เช่น อย่างน้อยค่าเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง (Engine Oil) ก็จะไม่มีเลย และเนื่องจากการมีอุปกรณ์เครื่องยนต์น้อย การซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ก็น่าจะไม่บ่อยเท่ากับรถยนต์ใช้น้ำมัน ส่วนในกรณีของชิ้นส่วน, ตัวถัง, ช่วงล่าง และอะไหล่ทั่วไปอื่นๆ เช่น ไฟส่องสว่าง คอนโซล หรือเบาะนั่ง เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาก็คล้ายๆ กับรถแบรนด์เดียวกันนั้นๆ ในรุ่นใกล้เคียงกันกับรถยนต์ทั่วไปที่ไม่ใช่รถ EV มากนัก

8. ใช้รถยนต์ EV แล้วจะปลอดภัยเหมือนรถยนต์ทั่วไปไหม?
หากเกิดอุบัตเหตุรถชน หรือคว่ำนั้น ความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารไม่ว่าจะรถ EV หรือรถยนต์ปกติจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความแข็งแรงของตัวถัง การออกแบบ อุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยในรถ น้ำหนักรถ และอื่นๆ แต่หากตัดเรื่องพวกนี้ออกไป หากรถไฟฟ้า EV มีแนวโน้มที่จะสามารถออกแบบในเชิงโครงสร้างให้มีความปลอดภัยมากกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ ด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ประการคือ

8.1 เนื่องจากอะไหล่ หรือชิ้นส่วนที่ใช้เคลื่อนไหวในรถ EV น้อยลงกว่ารถธรรมดากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ หลักๆ จะมีเพียงแค่ชุดมอเตอร์ไฟฟ้า, ชุดถ่ายทอดกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าไปยังล้อ, ชุดควบคุม และ แบตเตอรี่ จึงทำให้ชิ้นส่วนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรง หรือกระแทกเข้ากับผู้โดยสารมีนั้นน้อยลง และมีพื้นที่มากขึ้นสำหรับอุปกรณ์เรื่องความปลอดภัย

8.2 รถยนต์ EV สามารถติดตั้งแบตเตอรี่ไว้ได้หลายจุด ซึ่งทำให้สามารถออกแบบรถให้เกิดความปลอดภัย ใส่อุปกรณ์เสริมป้องกันภัย และดีไซน์พื้นที่เหลือเผื่อสำหรับการยุบตัว และกระจายแรงกระแทก (Crumple Zone) ไม่ให้กระแทกผู้โดยสารเร็ว หรือแรงเกินไปในกรณีอุบัติเหตุได้

8.3 แบตเตอรี่ Li-ion เป็นที่รู้กันว่าสามารถระเบิดได้ (เช่น ในโทรศัพท์มือถือ) แล้วถ้าติดในรถ EV จะเป็นอันตรายไหม? ต้องยอมรับว่าแบตเตอรี่แบบนี้อาจมีโอกาสเสียหาย และลุกลามติดไฟได้ แต่ในทางปฏิบัติ อุตสาหกรรมรถ EV เข้าใจความเสี่ยงข้อนี้ดี จึงมีการดีไซน์ให้มี Chilled Liquid Coolant คลุมตัวแบตเตอรี่ และออกแบบให้แบตเตอรี่มีการแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อลดความเสี่ยงพวกนี้ แต่หากเกิดกรณีติดไฟ หรือกระแสลัดวงจรขึ้นมาจริงๆ (Thermal Runaway) โชคดีที่ว่าการติดไฟของแบตเตอรี่ มักจะไหม้แค่ตัวแบตเตอรี่ หรือบริเวรณรอบๆ ใกล้เคียง ในขณะที่รถยนต์ปกติที่วิ่งโดยใช้น้ำมัน หากน้ำมันมีการรั่วไหล หรือกระจายตัวออก มีความเป็นไปได้ว่าความเสียหายจะเป็นวงกว้างกว่ารถ EV

การที่รถไฟฟ้า Audi e-Tron ได้รับเรทติ้งในเรื่องความปลอดภัยระดับ Top Safety Pick+ จากสถาบัน Insurance Institute for Highway Safety เป็นรถไฟฟ้ารุ่นแรกที่ได้รับเรทติ้ง Top Class แบบนี้

9. รถ EV วิ่งผ่านน้ำท่วม หรือฝนตกหนักจะมีปัญหาไหม ?
โดยทั่วๆ ไป ต้องตอบว่าโอกาสที่รถยนต์ EV ขับลุยน้ำ หรือฝนตกหนักๆ แล้วจะเกิดปัญหาน่าจะน้อยกว่ารถยนต์แบบทั่วไป ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจนิดนึงว่า รถยนต์ทั่วไปที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันโดยปกติไม่ควรขับผ่านน้ำท่วมสูงอยู่แล้ว เพราะอาจได้รับผลกระทบหลักๆ 3 เรื่อง คือ
9.1 น้ำเข้าไปในเครื่องยนต์
9.2 น้ำเข้าระบบเกียร์ และระบบขับเคลื่อน และ
9.3 น้ำเข้าไปผสมกับน้ำมันเครื่อง เกียร์ หรืออื่นๆ ที่เป็นของเหลว
ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้รถยนต์มีปัญหา ซึ่งถ้ารถ EV มีเครื่องยนต์ที่น้อยกว่า และไม่มีระบบเกียร์ หรือพวกน้ำมันของเหลวในรถมากมาย โอกาสที่จะมีปัญหาเนื่องจากน้ำท่วม หรือฝนตกหนักๆนั้น ก็น่าจะน้อยกว่า ประเด็นใหญ่ของรถ EV อย่างเดียวคือ ถ้าแบตเตอรี่โดนน้ำจะเป็นอย่างไร? แล้วถ้ารถ EV ติดแบตเตอรี่ไว้ใต้ท้องรถด้วย จะมีปัญหาไหม? โดยปกติ รถ EV จะมีการเก็บแบตเตอรี่ Sealed Off ไว้อย่างดี และแบรนด์ส่วนใหญ่ก็มีการ Test ในเรื่องนี้ไว้มากพอสมควร (เรียกว่า Soak Test) และกล้าโฆษณาว่าแบตเตอรี่เป็นแบบ Waterproof ดังนั้น รถ EV จึงขับผ่านน้ำท่วม และฝนตกหนักได้ เพียงแต่ต้องขับด้วยความระวัง และควรศึกษาข้อมูลของรถ EV แต่ละคันให้ดีๆ เช่น คู่มือรถอาจระบุข้อจำกัดในเรื่อง “ระดับความสูงของน้ำ” และ “ระดับความเร็วของรถ” เวลาวิ่งผ่านน้ำท่วมไว้ เช่น BMWi3 กำหนดไว้ว่าระดับน้ำไม่ควรสูงเกิน 25 ซม และความเร็วไม่ควรเกิน 5 กม./ชม เป็นต้น 

10. โดยสรุปรถ EV มีข้อดี-ข้อเสียอะไรบ้าง?

10.1 ข้อดีของรถ EV

10.1.1 ประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง แม้ว่ารถ EV จะมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรถยนต์ แต่แนวโน้มราคาของรถ EV ในอนาคตจะถูกลงเรื่อยๆ ประกอบกับค่าใช้จ่ายในส่วนของเชื้อเพลิงที่รถ EV ใช้ไฟฟ้าในการชาร์จเพื่อใช้เป็นพลังงานนั้น ราคาถูกกว่าน้ำมันที่มีต้นทุนการผลิต และราคามีความผันผวนสูงกว่าค่าไฟฟ้า

10.1.2 ลดมลภาวะทางเสียง เนื่องจากรถ EV ใช้เพียงมอเตอร์ในการขับเคลื่อน ซึ่งต่างจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเพื่อการเผาไหม้จุดระเบิดทำให้เกิดเสียงดัง รถยนต์ EV จึงมีเสียงที่เงียบกว่า

10.1.3 รักษ์โลก เนื่องจากรถ EV ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ เพราะไม่มีไอเสียจากการเผาผลาญพลังงาน มลพิษทางอากาศจึงเป็น 0 ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสิ่งแวดล้อมในโลกปัจจุบัน และช่วยลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของโลกลง เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานของเราในอนาคต

10.1.3 รถ EV มีกำลังแรงม้า และแรงบิดที่ดีกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ในระดับเดียวกัน ทำให้อัตราเร่งดีกว่า

10.1.4 แรงบิดของมอเตอร์ไฟฟ้ามีมาก เริ่มตั้งแต่ออกตัวขึ้นไป ไม่ต้องรอเร่งเครื่องยนต์ให้รอบถึงจุดที่มีกำลังสูงสุด และรถยนต์ EV ไม่จำเป็นต้องใช้ระบบเกียร์เพื่อทดกำลัง หรือใช้แบบ Single Speed ทำให้ชิ้นเคลื่อนไหวน้อยลงกว่าครึ่ง น้ำหนักเบาลง และลดการบำรุงรักษาไปได้มาก

10.1.5 รถ EV สามารถชาร์จไฟจากที่บ้านได้เลย เพียงแต่ต้องติดตั้งแท่นชาร์จไฟแบบพิเศษ หรือใช้ปลั๊คไฟที่ทำขึ้นมาเฉพาะชาร์จโดยตรงสำหรับรถยนต์ EV เท่านั้น

10.1.6 ประหยัดค่าซ่อมบำรุง และเวลาที่ต้องเสียไปกับการนำรถเข้ารับบริการ เพราะรถยนต์ EV ไม่มีเครื่องยนต์และชุดเกียร์ ทำให้ลดขั้นตอนการบำรุงรักษา ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น เช่น ไม่ต้องคอยเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง หรือน้ำมันเกียร์

10.2 ข้อเสียของรถ EV

10.2.1 ราคา และค่าใช้จ่ายในการขับรถ EV ปัจจุบันยังค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป หากรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนดีๆ เหมือนในต่างประเทศ ก็น่าจะทำให้ราคาต่ำลงได้ เช่น ได้ขึ้นทางด่วนฟรี ภาษีรถไฟฟ้า EV ต่ำกว่ารถทั่วไป ลดภาษีสรรพสามิต ผู้ผลิตรถ EV เสียภาษีนิติบุคคลธรรมดา หรืออากรสินค้าต่ำกว่าทั่วไป เป็นต้น

10.2.2 สถานบริการชาร์จไฟยังไม่ครอบคลุม ซึ่งในอนาคตบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง (เช่น PPT หรือ EA) หรือภาครัฐ (เช่น การไฟฟ้านครหลวง) กำลังดำเนินการขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น

10.2.3 ใช้เวลาในการชาร์จค่อนข้างนานราวๆ 6 – 8 ชั่วโมง แม้เทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาให้แบตเตอรี่, ระบบชาร์จไฟ เร็วยิ่งขึ้น แต่ปัญหายังคงเป็นเรื่องของระยะเวลาในการชาร์จ ซึ่งไม่เหมือนการเติมน้ำมันที่ใช้เวลาน้อยกว่าเพียงไม่ถึง 2 นาทีก็สามารถเติมน้ำมันได้เต็มถัง ในขณะที่รถ EV ที่ใช้ระบบชาร์จเร็วก็ต้องใช้เวลาชาร์จนานราวๆ 30 นาที ถึง 4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับระบบกระแสไฟฟ้าที่จ่ายและประเภทของแบตเตอรี่

10.2.4เมื่อไฟฟ้าในแบตเตอรี่หมดไม่สามารถใช้แบตเตอรี่จากแหล่งอื่นๆ มาจัมพ์ได้ ต้องเรียกศูนย์บริการหรือรถสไลด์เท่านั้น

10.2.5 หากรถยนต์ EV เสีย หรือมีปัญหา อาจไม่มีทางเลือกในการหาสถานที่ซ่อมมากนักในช่วงต้น อาจยังต้องใช้บริการศูนย์ซ่อม หรือช่างซ่อมรถยนต์ที่เป็นทางการของเจ้าของแบรนด์ไปก่อน แต่เมื่อช่างรถยนต์ข้างนอกมีความเชี่ยวชาญ หรือเชื่อถือได้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นอีกช่องทางเลือกหนึ่งในการส่งซ่อมรถได้หลากหลายขึ้นในอนาคต

ถ้าสนใจขับรถยนต์ EV ตอนนี้มีแบบไหนในประเทศไทยให้เลือกบ้าง
ปัจจุบันในประเทศไทยมีรถยนต์ EV ที่เข้ามาทำตลาดอย่างเป็นทางการแล้วทั้งสิ้นดังนี้

2.FOMM One ราคา 664,000 บาท

4. Hyundai KONA electric ราคา 1,849,000-2,259,000 บาท

5. BYD E6 ราคา 1,890,000 บาท

6. Nissan LEAF ราคา 1,990,000 บาท

7. KIA Soul EV ราคา 2,297,000 บาท

8. BMW i3S ราคา 3,730,000 บาท

9. Audi e-tron 55 quattro ราคา 5,099,000 บาท

10. Jaguar I-Pace ราคา 5,499,000-6,999,000 บาท

            จากราคาค่าตัวของรถ EV ที่ค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่จะประหยัดลงได้มาก ขอสรุปไว้ว่า รถ EV นับเป็นทางเลือกให้ผู้ต้องการเทคโนโลยี และความประหยัด นอกจากนี้ยังต้องศึกษาเรื่อง “จุดชาร์จไฟ” ให้แม่นยำ และในอนาคตอันใกล้ รถยนต์ EV กำลังเป็นกระแสที่กำลังเติบโตในประเทศไทย และในอนาคต

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *